หนังสือที่น้าแต้วจะมาชวนกันอ่านในเดือนนี้คือหนังสือเรื่อง ตัวเลขทำอะไร หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัยที่เริ่มหัดอ่าน หัดเขียนตัวเลขค่ะ
ผู้ใหญ่จำนวนมากทีเดียวที่เปิดดูหนังสือเด็กบางเล่ม แล้วตัดสินใจวางมันลง เพราะดูแล้วไม่เห็นจะมีอะไร หรือบางเล่มอาจจะมีตัวหนังสือแค่นิดเดียว และเด็กๆรู้จักเรื่องเหล่านี้ดีอยู่แล้ว สรุปว่า ไม่ซื้อดีกว่า ตัวเลขทำอะไร เป็นหนังสือที่มีทุกอย่างครบตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่อย่างเพิ่งตัดสินในไม่ซื้อดีกว่า ขอให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ใหญ่ตั้งคำถามสักนิดว่า ตัวเลขทำอะไรที่มีแค่เลข 1 ถึง 10 ซึ่งเด็กๆรู้จักกันดีตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียนแล้ว แถมยังไม่ภาพเดี่ยวๆในแต่ละหน้าและมีตัวหนังสือหน้าละไม่เกินห้าคำเท่านั้น แต่ทำไมหนังสือเรื่อง ตัวเลขทำอะไร จึงได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสือดีสำหรับเด็ก และได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตัวเลขทำอะไร เป็นผลงานของครูชีวัน วิสาสะ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2539 จัดว่าเป็นหนังสือที่คิดขึ้นจากการเรียนรู้การสอนแบบ Whole Language หรือการสอนภาษาแบบองค์รวม คือเด็กๆจะอ่านเป็นคำหรืออ่านทั้งคำ เหมือนกับการอ่านภาพ แต่สำหรับเราพ่อแม่ ผู้ปกครองคงไม่ต้องใช้หลักคิดเช่นนี้มาตัดสินเลือกหนังสือสักเล่มให้ลูกก็ได้ เพียงแต่ยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ที่ว่ามีภาษาน้อยนิดเดียวในแต่ละหน้านั้น เขามีที่มาที่ไปในการคิดทำต้นฉบับอย่างไร
ถ้าเปิดหนังสือ ตัวเลขทำอะไร แบบผ่านๆก็จะไม่เห็นอะไรเลยนอกจากเลข 1 ถึง 10 แถมเลข 11 ให้อีกตัวหนึ่งที่ปกหลัง แต่สำหรับพวกเราชาวก๊วนชวนอ่านย่อมไม่เปิดผ่านเป็นแน่ เราจะต้องลองอ่านออกเสียงกันก่อนว่า ภาษาเป็นอย่างไร จากนั้นค่อยๆพิจารณาดูรูปภาพว่า มีอะไรที่น่าสนใจหรือนักเขียนซ่อนอะไรไว้ในภาพบ้าง และให้ลึกลงไปอีกหน่อยว่า เราจะใช้หนังสือเล่มนี้กับลูกหลานที่บ้านเราอย่างไร และเด็กๆเขาจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง รวมถึงผู้ใหญ่อย่างเราๆว่า จะกระตุ้นส่งเสริมให้เด็กๆเล่นอะไรได้บ้าง เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ในหนังสือตัวเลขทำอะไร มีภาพอะไรซ่อนไว้ให้เด็กๆได้เรียนรู้บ้าง
รูปภาพในเล่มนอกจากเสนอตัวเลขซึ่งเป็นเพียงสัญลักษณ์แล้ว ยังได้นำเสนอจำนวนให้เด็กได้รู้จักและเข้าใจ ตัวอย่างเช่น เมื่อเปิดไปที่หน้า 6 กินข้าว เราก็จะเห็นเมล็ดข้าวสุก หกอยู่บนพื้น 6 เมล็ด หรือเลข 8 ตีกลอง เราจะเห็นว่ามีสัญลักษณ์เลข 8 ซ่อนอยู่หลายแห่งในภาพ (โปรดสังเกตอีกครั้ง) ทุกๆหน้าจะมีทั้งสัญลักษณ์ประกอบกับจำนวนที่หนังสือกล่าวถึงเอาไว้อย่างครบถ้วนและน่าสนุกสำหรับเด็กได้ค้นหา การใช้หนังสือเรื่องตัวเลขทำอะไร ใช้ได้ตั้งแต่หน้าปก ลองถามเด็กๆว่า วงกลมๆแบบนี้เป็นอะไรได้บ้าง เราจะได้คำตอบจากเด็กๆเช่น ลูกบอล ห่วงยาง พระอาทิตย์ เลขศูนย์ แหวน โดนัท นาฬิกา จาน พัดลม ...ฯลฯ ตอบอะไรมาก็ไม่มีผิด เพราะกิจกรรมนี้ไม่ใช่การตอบคำถาม แต่เป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เด็กได้คิด เพียงแค่ภาพเดียวบนหน้าปกก็กระตุ้นให้เด็กๆได้คิดได้รู้จักเชื่อมโยง ใช้ความคิดแบบมิติสัมพันธ์ขึ้นมาได้ บางครั้งเราอาจจะใช้เพียงแค่หน้าปกของหนังสือ ถ้ายังไม่อ่านต่อหรืออ่านกันมาหลายรอบแล้ว ลองคิดกิจกรรมให้เด็กๆเล่นสนุกบ้างก็น่าจะดี เช่น เขียนรูปวงกลมหนึ่งวง ก่อนจะถามเด็กๆว่า อยากให้วงกลมวงนี้กลายเป็นอะไร เมื่อเด็กตอบเราก็วาดรูปให้ วาดสวยหรือไม่สวยไม่สำคัญ เพราะเด็กๆจะรับรู้ได้ว่าเรามีความตั้งใจและเขาก็ได้สนุกไปด้วย หรือบางบ้านที่เด็กๆคุ้นเคยกับการวาดรูปเล่นอยู่แล้วก็ให้เด็กต่อเติมภาพเอาเอง สวยไม่สวยไม่สำคัญอีกเหมือนกัน กิจกรรมนี้ทำขึ้นเพื่อให้เด็กๆได้ถ่ายทอดความคิดของตัวเองออกมา หรือถ้าต้องการให้เกิดความเคลื่อนไหวก็ลองพาเด็กๆสังเกตดูสิ่งต่างๆรอบตัวที่เป็นรูปทรงกลม แล้วอาจจะลุกลามเป็นรูปทรงอื่นเช่น สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงรี รูปกรวย เป็นต้น (นี่เพียงแค่ปกหน้าเท่านั้น) เด็กๆก็จะได้เรียนรู้รูปทรงซึ่งเป็นหัวข้อทางคณิตศาสตร์อย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านปกหน้ามาแล้ว คราวนี้มาดูกันที่ปกรอง เป็นรูปบ้านหลายห้องหลายชั้น ที่หน้าต่างของแต่ละบ้านมีตัวเลขอยู่ ขาดแต่เลข 1 เท่านั้น เมื่อถามเด็กๆว่า ? เอ๊ะ เลข 1 หายไปไหน เลข 1 ไปทำอะไรนะ ? แล้วเปิดหนังสือหน้าต่อไป เด็กๆเห็นภาพตัวเลข 1 ขี่มด และตัวอักษรก็เขียนว่า 1 ขี่มด เด็กเล็กๆอายุประมาณ ๓ ขวบทุกคนแม้ยังอ่านหนังสือไม่ออกแต่ก็สามารถอ่านภาพและบอกได้ว่า เลข 1 ขี่มด (ผู้เขียนทดลองมาแล้วหลายครั้ง) ซึ่งตรงนี้นี่เองที่เด็กๆจะได้สนุกกับการเรียนรู้ภาษาจากการอ่านภาพ รวมทั้งคำว่า 1 ขี่มด ก็เป็นภาพภาพหนึ่งในสายตาของเด็กเล็กๆ
ต่อมาคือเลข 2 ต้นไม้ 3 หวีผม 4 ดมดอกไม้ 5 ขับเครื่องบิน 6 กินข้าว 7 เป่าปี่ 8 ตีกลอง 9 นอนหลับ 10 จับปลา ก็ใช้วิธีการเดียวกัน คือก่อนเปิดหน้าต่อไป ผู้ใหญ่เริ่มต้นด้วยคำถาม ? เลข 2 ทำอะไร ? ? เลข 3 ทำอะไร ? แบบนี้ไปทุกๆหน้า เพื่อให้เด็กได้เตรียมตัวพบกับตัวเลขในหน้าถัดไป แล้วโต้ตอบกลับ ซึ่งการใช้หนังสือด้วยวิธีนี้เป็นการใช้อย่างมีชีวิชีวา เด็กๆรู้สึกสนุกกับการถามตอบ และเราจะพบว่าเด็กๆนั้นสามารถอ่านภาพ แล้วตอบได้อย่างถูกต้องจากการภาพตัวเลขที่ดูเหมือนมีชีวิต แสดงกริยาท่าทางให้เห็นอย่างชัดเจน เพียงแค่เด็กๆได้เห็นภาพตัวเลขที่มีหน้ามีตา มีแขนมีขาและสวมใส่เสื้อผ้าเหมือนคน เท่านี้พวกเขาก็จะจดจำตัวเลขที่เห็นในหนังสือได้ตลอดไป เพราะความรู้สึกประหลาดใจและประทับใจนั่นเอง ที่กล่าวถึงมาข้างต้น เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ และศิลปะสำหรับเด็กเล็ก หากเป็นเด็กที่โตขึ้นมา เราก็สามารถตั้งโจทย์ให้ยากขึ้นอีกได้ด้วยการกระตุ้นส่งเสริมการเรียนเรื่องภาษา เราจะเห็นว่า ตัวเลขแต่ละคู่เป็นคำสัมผัสกัน เช่น 1 ขี่มด 2 รด น้ำต้นไม 3 หวีผม 4 ดมดอกไม้...สำหรับเด็กประถม หนังสือตัวเลขทำอะไร จะกลายเป็นหนังสือที่น่าสนุกขึ้นมาทันที หากเราผู้ใหญ่ตั้งโจทย์ที่ท้าทายแก่เด็ก เช่น ถ้า 1 ว่ายน้ำ 2 จะต้องทำอะไร โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นคำกริยาที่มีความหมายและสัมผัสกับคำว่า น้ำ จากนั้นก็คิดเลยไปถึง 3 4 5 6 ....เป็นคู่ๆไปเรื่อยๆ ตัวเลขทำอะไรเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่น้าแต้ววิเคราะห์ให้เห็นว่า หนังสือดี 1 เล่มใช้ได้หลากหลายวิธี ในแต่ละวิธีจะช่วยให้เด็กๆได้เรียนรู้หลากหลายเรื่องราว และยังมีหนังสือดีอีกนับร้อยเล่มในร้านหนังสือ น้าแต้วจะค่อยๆเลือกสรรมานำเสนอลงในก๊วนชวนอ่านตรงนี้ เพื่อให้ชวนก๊วนได้นำไปใช้กับเด็กๆที่บ้านได้อย่างสนุกและได้ประโยชน์คุณค่า คุ้มราคา และอย่าลืมว่า ถ้าบ้านไหนครอบครัวใดมีวิธีการอ่านหนังสือที่น่าสนุก หรือมีกิจกรรมดีๆที่ต่อเนื่องจากการอ่านหนังสือให้ลูกหลานฟังแล้วละก็ อย่ารีรอที่จะส่งเข้าแลกเปลี่ยนกันอ่านตรงนี้นะคะ น้าแต้วจะรีบเอาขึ้นเว็บเพื่อเผยแพร่แก่เพื่อนร่วมก๊วนของเราทันที Add as favourites (726) | Quote this article on your site
|