เยือนบ้านน้าปู พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี เมื่อสองสามปีที่แล้ว แม่จาได้อ่านหนังสือบันทึกชาวทุ่ง เขียนโดย พรศิริ บูรณเขตต์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก อ่านแล้วรู้สึกศรัทธาผู้ก่อตั้งและดำเนินพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยากจะขับรถไปหา ติดแต่ลูกยังเล็ก ก็เพิ่งมีโอกาสไปมาเมื่อเร็วๆนี้ ครอบครัวเราเดินทางไปกับป้าน้อง มีโอกาสพบน้าปู (โดยมิได้นัดหมาย) ได้พูดคุยกับน้าปู (พรศิริ) ลูกสาวคนเล็กของลุงจ่าทวี ผู้สืบทอดงานพิพิธภัณฑ์ที่ลุงจ่าก่อตั้งมากว่า 20 ปี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แสดงของพื้นบ้านแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ 1. เรื่องเด็กๆ ชีวิตกับการเรียนรู้ในทุ่งกว้าง (ร้านภูฟ้าผสมผสาน สยามพารากอน นำชิ้นงานมาแสดงโชว์ สมเด็จพระเทพฯทรง เปิดงานเมื่อปี 2549 ) 2. เรื่องในบ้าน ของใช้ในครัวเรือนกับชีวิตชาวบ้านทุ่ง 3. เรื่องหาอยู่หากิน ชีวิตกับลมหายใจในท้องทุ่ง การออกแบบของชาวบ้านช่างเก่งจริงๆ แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันโดยใช้วัสดุธรรมชาติรอบตัวมาประดิษฐ์ใช้งานโดยไม่ต้องซื้อหา แบบนี้ที่เค้าเรียกกันว่าภูมิปัญญาชาวบ้าน น่าเสียดายที่ของหลายอย่างเป็นเพียงสิ่งที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ในชีวิตจริงของเหล่านี้ได้ถูกมองข้ามและเลิกใช้ไปแล้ว น่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่มองข้ามเลือกของทันสมัยไปแทนที่ของพื้นบ้านที่เหมาะกับการใช้งานในท้องถิ่นมากกว่า อยากเห็นของในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้วใช่ไหมคะ ขับรถไปแค่ 5 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ หรือยังไม่สะดวกไปก็หาซื้อหนังสือมาอ่านเล่นก่อนก็ได้ สำหรับแม่จา ลุงจ่าทวี และน้าปูเป็นคนที่ควรจะให้ลูกๆหลานๆ ของเราได้รู้จักและเอาเป็นแบบอย่างของคนดีที่น่านับถือ ทำงานด้วยความรัก ความมุ่งมั่น ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน เก่งมาก และ คิดการไกลเพื่อรุ่นลูกรุ่นหลาน น้าปู (ของเด็กๆ) เป็นคนคุยสนุก คล่อง และขยันมาก แต่ละวันมีภารกิจที่ต้องทำมากมายทั้งงานพิพิธภัณฑ์ งานบรรยายตามสถานศึกษา งานเขียนหนังสือ น้าปูจะเขียนหนังสือเวลากลางคืนนอนตีสี่ ตื่น 8 โมงเช้าเพื่อมาทำงานที่พิพิธภัณฑ์ อยากให้อ่านสัมภาษณ์ที่น้าปูช่วยแบ่งเวลาอันมีค่ามาเขียนตอบ 7 ข้อ เพื่อแบ่งปันมุมมองให้กับสมาชิกครอบครัวตัวต่อ น้าปูเขียนหนังสือและวาดรูปโดยใช้มือข้างซ้าย ซึ่งน้าปูเพิ่งหัดเมื่อตอนโตทำงานพิพิธภัณฑ์ น้าปูบอกว่าเพื่อเป็นการเตือนตัวเองให้ระลึกเสมอว่างานพิพิธภัณฑ์เป็นงานที่ยากต้องใช้ความตั้งใจ และอดทนอย่างสูง - จดหมายตอบจากน้าปูถึงแม่จา |