ไปเยือนบ้าน... คุยกับแม่อ้อ เรื่องลูกชาย ?Jamshi? นักเขียนหนุ่มน้อย ในนิตยสารวัยรุ่น ?หมัด? |
|
เขียนโดย แม่จา
|
เสาร์, 11 ตุลาคม 2008 |
ไปเยือนบ้าน... คุยกับแม่อ้อ เรื่องลูกชาย ?Jamshi? นักเขียนหนุ่มน้อย ในนิตยสารวัยรุ่น ?หมัด?
เดี๋ยวนี้มีเด็กเป็นออทิสติก กันเยอะมาก พ่อแม่บางคนไม่รู้ว่าลูกเป็น บางคนไม่ยอมรับว่าลูกเป็นบอกตัวเองและคนอื่นว่าลูกเป็นเด็กซนมาก บางคนเมื่อสังเกตเห็นลูกไม่ปกติ ก็หาทุกวิถีทางเพื่อรักษาและปรับพฤติกรรมลูก
แม่อ้อ เป็นเพื่อนแม่จา (จากเดิมที่เคยเป็นลูกค้า ทำงานมีจริตเดียวกัน ความสัมพันธ์จากลูกค้าจึงกลายมาเป็นเพื่อนที่ยังติดต่อกันมาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว) แม่อ้อเป็นสาวทำงานเก่ง คล่อง แต่เมื่อ 12 ปี ที่แล้วพอคลอดแจมก็ออกจากงานมาเลี้ยงลูก แจมเป็นเด็กหล่อ น่ารัก เมื่ออายุเกือบสองขวบหัวใจแม่อ้อแทบหยุดเต้นเมื่อรู้ว่าแจมเป็น Autistic Spectrums ซึ่งโอกาสการรักษาให้หายมีน้อยมาก ข้อมูลวิธีการรักษาก็หายากมาก แม่อ้อมีอาการท้อแท้ในบางครั้งแต่ไม่เคยท้อถอยเพราะเชื่อว่า ?มนุษย์ทุกคน มีศักยภาพในการเรียนรู้ ในแบบของเขา เพื่อก้าวข้ามอุปสรรค สร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่า มหัศจรรย์ได้ ขอเพียงเรามีความเชื่อ ศรัทธาอย่างแท้จริง ? และที่สำคัญแม่อ้อมี ?พ่อศรัณย์? คอยเป็นสติของครอบครัวในช่วงเวลาที่สำคัญเสมอ
ประสบการณ์ 12 ปีที่เหนื่อยนักแต่ชื่นใจของแม่อ้อ น่าจะเป็นประโยชน์กับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นออทิสติก (และคงเป็นกำลังใจในการเลี้ยงลูกที่ดีสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกปกติด้วย) แม่อ้อและพ่อศรัณย์ รวมทั้งเจลลี่(น้องสาวของแจม) ช่วยกันส่งเสริมแจม ช่วยกันเป็นกำลังใจให้แจม จนวันนี้แจมค้นพบความสามารถของตัวเอง ฝึกฝนจนมีเวทีให้แจมได้ถ่ายทอดเป็นงานเขียนในหนังสือการ์ตูนสำหรับวัยรุ่นชื่อ ?หมัด? (MUD) ติดตามอ่านผลงานแจมได้ที่ http://mrjamshi.blogspot.com/
ขอขอบคุณแม่อ้อ พ่อศรัณย์ และแจม ที่แบ่งปันประสบการณ์อันมีค่ายิ่งให้กับผู้อ่านเว็บครอบครัวตัวต่อ หากผู้อ่านท่านใดมีเพื่อนที่ลูกเป็น Autistic อยากชวนให้ส่งต่อบทความแม่อ้อไปให้อ่าน แม่จาเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อครอบครัวที่ต้องเผชิญเรื่องราวเดียวกับครอบครัวแม่อ้อ
ภาพครอบครัวแม่อ้อเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
คลิกอ่านบันทึกแจมกุมาร เพื่อศึกษาพัฒนาการและวิธีการดูแล
12ปี ที่เหนื่อยนัก แต่ชื่นใจ จา เพื่อนรัก
ขอบใจมากที่เปิดโอกาสให้เราได้ลำดับเรื่องราวของแจม ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่นๆ
ในปีพ.ศ.2551 แจมมีอายุ 12 ปี แม้เรายังรู้สึกว่าเขายังเป็นเด็กชายตัวเล็กๆ ที่เรายังคงต้องดูแลอยู่ แต่ ในอีกมุมหนึ่ง เขาก็ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า เขาได้เติบโตทั้งทางร่างกาย ความคิด จิตใจ เป็นมนุษย์ตัวน้อยๆ ที่เราภูมิใจ ขณะเดียวกันก็ยังรู้สึกตารื้นๆ ทุกครั้งเมื่อมองย้อนกลับไป ขณะที่เขาอายุไม่ถึง 2ขวบดี
เราจำได้แม่น ถึงความเป็นคุณแม่มือใหม่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการให้นม ล้างขวดนม กล่อมนอน พาลูกทารกออกไปพบปะผู้คน ฯลฯ เป็นเรื่องที่เราไม่รู้เลยว่า ควรทำอย่างไร ที่สำคัญเมื่อลูกวัยขวบกว่าของเรายังไม่พูด และซนเหลือเกิน ซนแบบที่เราซึ่งไม่เคยมีลูกมาก่อน รู้สึกว่าหากการมีลูกหนึ่งคนมันเหนื่อยขนาดนี้ คนอื่นๆ เขามีกันหลายๆ คนได้อย่างไรกันนะ ?
เมื่อลูกเริ่มเดินได้ เราเคยพาเขาไปห้างฯ ครั้งเดียว ครั้งเดียวเท่านั้น เราตกใจแทบแย่ที่เมื่อวางลูกลง เขาวิ่งหายเข้าไปในฝูงคน เราวิ่งตามและมองหา อาการใจหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่มเป็นอย่างไร เรารู้ซึ้งดีวันนั้น จนเมื่อสายตาพบแจมยืนกระดกก้นอยู่หน้าทีวี เต้นตามจังหวะเพลง ขำนะ แต่น้ำตาซึม ไม่เอาอีกแล้ว
ยังไม่สองขวบดี เราอยากให้เขาพูดได้เสียที จึงมองหาเนอร์สเซอรี่ใกล้บ้าน มีร.ร.อนุบาล ครูบอกว่าแจมปากหนักน่ะ มาโรงเรียนเดี๋ยวก็พูด ผ่านไปไม่ถึงสองอาทิตย์ แจมกลับมามีแผลเหนือคิ้ว ครูบอกว่า ใครจับตัว แจมก็ กรี้ด หงายหลัง ทิ้งตัวลงกับพื้น ครูเรียกชื่อก็ไม่เคยหัน น่าจะมีปัญหา ครูแนะนำให้เราพาลูกไปพบแพทย์
Jam's 1st.day school
ตอนนั้นโกรธมากเลยนะ ลูกเราปกติดี ฉลาดจะตาย มาหาเรื่องกันได้ ! ใจที่ร้อนรนต้องการพิสูจน์ว่าลูกปกติดี จึงไปพบแพทย์พัฒนาการเด็ก แต่วันนั้นหัวใจมันเหมือนหยุดเดินอย่างเงียบๆ เมื่อหมอบอกว่าลูกเราเป็น Autistic Spectrums สักพักใหญ่ทีเดียวกว่าจะได้สติ ตั้งตัวกันทั้งพ่อและแม่ จากนั้นการหาข้อมูลทั้งจากอินเตอร์เน็ต หนังสือ การอบรม การพบแพทย์ เข้ากลุ่ม ทดสอบไอ.คิว ฝึกพูด ปรับพฤติกรรม กิจกรรมบำบัด ไปขี่ม้า ไปว่ายน้ำกับปลาโลมา บอกมาเถอะว่าอะไรที่จะทำให้ลูกสื่อสารได้ หายได้ เราทำตามทุกอย่าง
เราคิดว่าแจมทำบุญมาเยอะนะ จากเดิมที่หมอบอกว่าอาการไม่ได้น้อยๆ คือ ไม่มีภาษาเลย สนใจแต่สิ่งของ ไม่สบตา วิ่งวนแบบไร้จุดหมาย แต่เมื่อเราไม่ลังเล ทำตามทุกอย่างที่หมอและผู้เชี่ยวชาญทุกแขนงแนะนำ เราทำอย่างเข้มข้น ตลอดเวลาที่อยู่กับลูก เราจะพูดแบบที่เรียกว่า ?พูดพากย์ทุกวินาที? ทุกประโยค สั้นกระชับ มีความหมาย การสื่อสารของแจมพัฒนาขึ้นเป็นกราฟที่พุ่งขึ้น แม้จะช้าๆ แต่ไม่มีถดถอย ทำให้เขาไม่เคยต้องกินยาใดๆ แค่เข้าคอร์สต่างๆ และแม่เอามาฝึกฝนต่อที่บ้าน อาการก็ดีวันดีคืน
การหาที่ๆ เหมาะสมกับเขา ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมสำคัญ เราจำได้ว่า เราต้องเข้มแข็งและยืนยันในสัญชาติญาณของความเป็นแม่ในหลายๆ เรื่อง เมื่อสิบปีก่อน เด็กออทิสติก ถูกระบุว่า ต้องอยู่ในห้องเรียนที่มีแบบแผน จึงจะทำให้เขามีพฤติกรรมและการเรียนรู้ที่พึงประสงค์ การที่เราเลือกรุ่งอรุณซึ่งเป็นการเรียนแบบบูรณาการ เป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น มีแต่คน (ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย) ไม่เห็นด้วย
แต่เราเห็นว่า ในเมื่อเด็กออทิสติกมีแนวโน้มที่จะยึดติดแบบแผน ความจำดี แต่ไม่เข้าใจนามธรรม เชื่อมโยงไม่ได้ หากเราให้เขาไปอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ท่องจำความรู้ในกระดาษ ก็เป็นการเสริมจุดเด่น แต่ไม่ได้ ช่วยเรื่องที่เขาด้อยเลย แล้วเขาจะอยู่ในโลกปกติด้วยตัวเองได้จากการท่องจำความรู้ในกระดาษหรือ?
เราจึงช่วยฝึกฝนลูกทั้งในแง่ การดูแลตัวเองในชีวิจประจำวัน เขาควร บอกความต้องการพื้นฐานได้ หิวข้าว หิวน้ำ ปวดฉี่ แต่งตัวเองเป็น เก็บข้าวของลงกระเป๋า หรือจัดเข้าล็อคเกอร์เองได้ แจมจึงเดินเข้าร.ร.เองได้ ตั้งแต่วัยอนุบาล
เมื่อเข้ารุ่งอรุณแล้ว การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันผู้คนในสังคมเป็นพื้นฐานสำคัญที่แจมได้จากที่นี่ การเรียนรู้ที่ให้ความหมายกับผู้เรียน เรียนรู้จากการลงมือทำจริง เปิดพื้นที่ให้จินตนาการ การอยู่ในระเบียบแบบแผนคุณค่าของความเป็นไทย ในขณะเดียวกันทั้งแม่และลูกก็ยังคงกระเตงกันไปฝึกฝนกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เราไม่ค่อยมีวันหยุดพัก ในช่วงก่อนวัยประถม
พัฒนาการด้านภาษาของแจมดีขึ้นเป็นลำดับ โชคดีอีกครั้งที่แจมมีน้องสาวคลานตามมาติดๆ การตั้งคำถาม พูดโต้ตอบแจม เลียนแบบและพัฒนาการได้ดีจากเจ้าเจลลี่ ตอนนั้นมีความกังวลอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญมักระบุว่า เด็กออทิสติกจะไม่เข้าใจความคิดรวบยอดเชิงนามธรรม ทำให้เราตั้งหน้าตั้งตาช่วยแจมตั้งแต่เล็กๆ ทุกๆ คืน ในการเล่าเรื่อง แล้วถามย้อนว่าใคร ทำอะไร ถามซับซ้อนขึ้นตามวัย ว่าถ้าคนนี้ทำอย่างนี้จะเกิดอะไร เขาพูดอย่างนี้หมายความว่าอะไร และเมื่ออ่านงานของแจม ทุกคนคงเห็นแล้วว่า เขาสามารถก้าวข้ามกำแพงนี้มาได้
อันที่จริงนี่ก็ไม่ใช่หนทางที่โรยด้วยกุหลาบหรอกนะ ทุกวันนี้สิ่งที่เรายังต้องช่วยเขาอยู่คือ คือการจัดการอารมณ์ของตัวเอง ที่บางครั้งเขายอมไม่ได้เมื่อพบเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกใจ แต่อธิบายให้คนอื่นเข้าใจความรู้สึกตัวเองชัดเจนไม่ได้ ไม่รู้จักวิธีหลบหลีกเหมือนเด็กทั่วไป ถ้าทำอะไรผิดด้วยกัน แจมจะเป็นคนที่เหมือนเป็นต้นเหตุของความไม่ปกตินั้น เพราะเขาอารมณ์ร้อน แม้ไม่แก้ตัว ไม่หนี ไม่หลบหลีก แต่จะชนตรงๆ การพูดตามความรู้สึกที่แท้จริงแบบตรงไปตรงมา ผสมกับคำพูดที่ไม่เหมาะสม ในสายตาของครู แจมตกที่นั่งเป็นเด็กก้าวร้าวบ่อยๆ
แต่เราก็ไม่ย่อท้อ มาถึงวันนี้แล้วเรายังคงสอน และ เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ที่จะผิดพลาด เสียใจ และ เริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ เพราะชีวิตจริงของเราเป็นอย่างนั้นใช่ไหม แม้ไม่มีเราเขาก็ควรต้องอยู่ได้ ในโลกที่วุ่นวายใบนี้
จากงานเขียนการ์ตูนที่ได้รับการตีพิมพ์ในวันนี้ ต้องเล่าอีกนิดว่า ?
แรกเริ่มแจมวาดรูปไม่เป็น รู้แต่เขียนตัวเลข ตัวอักษร แต่จินตนาการวาดออกมาเป็น รูปสัตว์ รูปคน ไม่เป็น จนได้ครูศิลปะบำบัดมาช่วยแนะนำ ต่อยอดว่า ต้นไม้ก็เหมือนเลข 1 หัวช้างก็กลมๆ เหมือนเลข 0 เมื่อเขาเริ่มวาดได้ ก็ไม่เคยหยุดวาดอีกเลยมาจนถึงวันนี้
หวังว่าคงสนุกกับการ์ตูนของแจมนะ หากมีเรื่องอื่นๆ ที่สามารถช่วยครอบครัวอื่นๆ ได้ ก็อย่าได้เกรงใจ บอกเรามาได้เลย
รักเสมอ อ้อเอง
? อ่านงานการ์ตูนของแจมได้ที่นี่ http://mrjamshi.blogspot.com
? การพบแพทย์พัฒนาการเด็ก และ ศูนย์บริการเพื่อพัฒนาการที่เหมาะสมของเด็ก สามารถติดต่อตามโรงพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่ง (ของแจม ร.พ.ศิริราช ,ร.พ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ และ ร.พ.ธนบุรี 2) ขอบอกสิ่งที่เราคิดว่า ?สำคัญ? ดีกว่านะ จงใช้หัวใจของแม่สัมผัสลูก ว่า? ? มีอะไรที่เราควรเสริมให้เขาเท่าทันเพื่อนในวัยเดียวกัน และ เขามีความสนใจด้านใดอย่างเด่นชัดที่เราสามารถนำมาต่อยอดการเรียนรู้ เสริมพัฒนาการด้านอื่นๆ อย่างรอบด้านให้เขาได้ ? บางครั้งปัญหาแก้ได้เมื่อเราหยุดพูดและฟัง(จริงๆ) ที่ลูกพูดบ้าง ? อย่าเสียเวลาฟูมฟายว่าทำไมเรื่องนี้จึงเกิดกับเรา เพราะการลงมือทำ ยิ่งเร็ว ยิ่งช่วยลูกให้ดีขึ้น ? ในขณะเดียวกัน อารมณ์ขัน ก็เป็น เครื่องช่วยชีวิตในยามขับขัน เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ควรบ่มเพาะให้ลูกไว้ ? ที่สุดแล้ว ?มนุษย์ทุกคน? มีศักยภาพในการเรียนรู้ ?ในแบบของเขา? เพื่อก้าวข้ามอุปสรรค สร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่า มหัศจรรย์ได้ ขอเพียงเรามีความเชื่อ ศรัทธาอย่างแท้จริง
Jam 12Y Sept,2008 สุดท้ายฝากไว้ ยินดีคุยทั้งเรื่อยเปื่อยและจริงจังค่ะ
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้
สติของครอบครัว
คนมักชื่นชมว่า เราทำหน้าที่แม่ของลูกได้อย่างเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อแต่อันที่จริงแล้ว เราคงไม่สามารถยืนอยู่ ได้อย่างมั่นคง หากไม่มี สติที่คอยกำกับอยู่เป็นระยะสติที่ว่านี้ไม่ใช่แค่สติของตัวเราเองเท่านั้น หากแต่เป็น ?เสียงของใครอีกคนหนึ่ง? ในครอบครัวของเรา ในวันที่เราพาแจมไปตรวจเบื้องต้น สำหรับเด็กที่ยังไม่พูด พูดช้า น่าจะต้องผ่านขั้นตอนตามนี้คือ ตรวจช่องปาก ว่าลิ้นมีพังผืดไหม โครงสร้างของเครื่องปากมีปัญหาต่อการออกเสียงหรือเปล่าจากนั้นก็ต้องมีการตรวจการได้ยินของหู ซึ่งในการตรวจครั้งแรก เราพาแจมไปตรวจมีการให้ยานอนหลับ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับเด็กเล็ก แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ?
ผลออกมาปรากฎว่า หูข้างขวาของแจมหนวกสนิท ! ตลอดทางขับรถกลับบ้าน เราน้ำตาไหลไม่หยุด นึกโทษตัวเอง โทษทุกคนรอบข้าง ทำไมทำไมทำไม เราไม่เฉลียวใจเร็วกว่านี้ เมื่อเล่าให้พ่อของแจมฟัง พร้อมกับการพยายามทำใจตัวเองให้ยอมรับ พ่อก็ทำเหมือนทุกๆ ครั้ง คือ ตั้งคำถาม สงสัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น และก็พิสูจน์ว่าจริงหรือ ? พ่อใช้วิธีเดินไปด้านหลังของแจม เว้นระยะห่างไม่ถึงกับใกล้มาก ตอนนั้นแจมกำลังง่วนเล่นอะไรไม่รู้อยู่บนเตียงแล้วพ่อก็ดีดนิ้วที่หลังหูข้างขวา แจมก็หันมาทันที นั่นทำให้เราต้องนัดตรวจการได้ยินซ้ำครั้ง 2 (แน่นอนเราเปลี่ยนที่ตรวจ เป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือแทน)
การที่เรียกชื่อแล้วแจมไม่หัน ตามที่ครูบอกมา เพราะเขายังไม่รู้จักชื่อตัวเอง (ยังไม่มีภาษา) แต่ไม่ใช่หูหนวกในวันที่เริ่มฝึกพูดให้แจม แม้เขาจะมีพัฒนาการที่ดี เริ่มจาก พูดตามเสียงท้ายได้ พูดตามเป็นคำๆ ตอบคำถามได้ว่า เอา หรือ ไม่เอา (ทุกๆ ขั้นของพัฒนาการใช้เวลาหลายๆ เดือน ไม่ใช่ฝึกปุ๊บได้ปั๊บทันที) ขณะนั้นแจมยังพูดไม่เป็นประโยค หรือ โต้ตอบแบบธรรมชาติ แต่กลับใช้ภาษาต่างดาว (เป็นการเล่นเสียงของตัวเอง ที่ไม่ได้ใช้เพื่อการสื่อสาร ของแจมจะคล้ายภาษาญี่ปุ่น บวกกับเล่นพ่นเป่าปาก) อยู่ช่วงหนึ่งนานทีเดียว
เราเคยใช้เสียงตลกๆ เช่น เสียงแกล้งจาม ดึงดูดความสนใจของเขาได้ เพื่อฝึกสบตา เมื่อแจมใช้ภาษาต่างดาวบ่อยๆ เราคนฝึกก็เผลอพูดภาษาต่างดาว เป็นเสียงสูงๆ ต่ำๆ ดูตลกๆ ไปกับเขาด้วย ทำนองปลอบใจตัวเองว่า เราคุยกันรู้เรื่อง พ่อก็เป็นคนเตือนสติเราว่า อย่าลืมว่าเราต้องเป็นคนนำลูก อย่าใจอ่อนให้ลูกนำเรา ในช่วงที่แจมมีพัฒนาด้านภาษาดีมากๆ แล้ว อยู่ระดับประถม เรียนได้ดี แต่จะมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมในชั้นเรียนบ่อยๆครูก็ให้ปรึกษาแพทย์ แพทย์ก็จะจ่ายยา(ควบคุมเรื่องสมาธิ) ช่วยครู
เราเองไม่ต้องการให้ลูกกินยาก็ปรึกษากันว่า ขอเวลาทดลองด้วยวิธีเข้ากลุ่มทางสังคม เพื่อปรับพฤติกรรมแทน ซึ่งโรงพยาบาลมีการจัดกลุ่มในเด็กวัยใกล้กัน ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องสมาธิ
เราก็พาลูกไป คอร์สต่อเนื่อง 10 ครั้ง ตลอดเวลาแจมไม่บ่นเลย ยอมเข้าร่วมโดยดี แต่ในกลุ่มมีเด็กที่อาการหลากหลาย ความปั่นป่วนของห้องทำให้แจมคงยิ่งรู้สึกแย่ ควบคุมตัวลำบากยิ่งกว่าอยู่ในชั้นเรียนปกติ รวมทั้งกิจวัตรประจำวันของเรา แจม และ เจลลี่ ก็ยิ่งทรุดโทรม เพราะหลังเลิกเรียนต้องขับรถเป็นชั่วโมงเพื่อมาเข้ากลุ่ม ขับรถอีกเป็นชั่วโมงเพื่อกลับบ้าน หมดแรง เช้าขึ้นมาก็ต้องขับรถไปโรงเรียนอีกเกือบชั่วโมง
จนมาถึงครั้งสุดท้าย แจมถูกให้ออกมาจากห้องด้วยอาการหงุดหงิดอาละวาด บอกว่า ผมไม่ได้อยากเข้ากลุ่มเลย แต่เกรงใจแม่ (เมื่อเราหยุดพูด เราจะได้ยิน) เหตุการณ์นี้ พ่อเข้ามาเป็นสติอีกครั้งว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเปิดโอกาสให้ครู และ แจมเองได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราอาจจะแนะนำวิธีการให้ครูได้บ้าง แต่แจมเองก็ต้องพยายามปรับตัวเองด้วย
และที่สำคัญที่สุด คือ พวกเราเองที่เป็นครอบครัว ควรมีการปรับความคิดใหม่ (mindset) ว่า ขณะนี้เรามีลูกที่เป็น ?เด็กธรรมดาๆ คนหนึ่ง? เพราะ ที่ผ่านมาเราตระเวนพาเขาไปฝึก ไปเรียนตามที่ต่างๆ จนเขาดีขึ้นขนาดนี้แล้ว ถึงเวลาแล้วที่เราจะเลี้ยงดูเขาเหมือนเด็กทั่วๆไป ที่มี อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดเป็นของตัวเองเขาอาจจะเกเรบ้าง หงุดหงิดบ้าง เป็นธรรมดา เด็กคนอื่นๆ ก็เป็นถ้าเขาเป็นบ่อยกว่า แรงกว่า ก็ต้องเรียนรู้ที่จะควบคุม หรือ รับบทลงโทษแต่ ถ้าเรายังเลี้ยงดูเสมือนว่าเขาเป็นเด็กพิเศษ เขาก็จะไม่สามารถก้าวข้ามกรอบที่เราตีเอาไว้ได้ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเดินทางของแม่ลูก แม้จะหนักหน่วง แต่ไม่เคยแห้งแล้ง โดดเดี่ยว
เพราะเรามีพ่อที่คอยเป็นสติในช่วงเวลาที่สำคัญเสมอ
ขอบคุณพ่อมาก พวกเรารักพ่อค่ะ
|