เซลล์กระจกเงา กับการเรียนรู้แบบเลียนแบบ |
|
เขียนโดย นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร
|
อาทิตย์, 17 สิงหาคม 2008 |
เซลล์กระจกเงา กับการเรียนรู้แบบเลียนแบบ Mirror Neuron and Imitation Learning สมาชิก ?ครอบครัวตัวต่อ? คงได้อ่านข่าววัยรุ่นเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ GTA แล้วเกิดความคิดอยากทำตามอย่างในเกมบ้าง ก็เลยไปปล้นแท็กซี่ สุดท้ายกลายเป็นผู้ร้ายไปอย่างน่าสงสาร แถมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองทำอะไรผิด รู้เพียงแต่ว่าในเกมมันไม่ผิด (เหตุเกิดวันที่ 3 ส.ค.นี้ อ่านข่าวต่อ คลิกเว็บไซต์กระปุก )
นี่คือผลงานของเซลล์กระจกเงา หน้าที่อย่างหนึ่งของเซลล์กระจกเงาคือการเลียนแบบ ในคดีนี้วัยรุ่นคนดังกล่าวได้เลียนแบบพฤติกรรมในเกม GTA และแสดงออกจนกลายเป็นคดีอาชญากรรมไปในที่สุด เกม GTA คือเกมที่ให้คนเล่นได้เข้าไปมีบทบาทในเกมโดยการทำตัวเป็นโจร พูดง่ายๆ มันคือเกมสอนทักษะของความเป็นโจรนั่นเอง ใครเล่นเกมนี้จะต้องทำตัวเป็นโจรให้สุดๆ ถึงจะได้แต้มปล้นแท็กซี่ ฆ่าตำรวจ ข่มขืนผู้หญิง ได้แต้มหมด ก็เพียงแค่การได้เห็นบทบาทโจรที่เกมวางไว้สำหรับให้ผู้เล่นเข้าไปสวม เซลล์กระจกเงามันก็ทำการลอกเลียนแบบของมันแล้ว แต่นี่ผู้เล่นต้องเข้าไปแสดงบทบาทโจรอย่างแข็งขันด้วย แล้วมันจะไม่ทำให้คนเล่นเกิดการลอกเลียนบทบาทโจรได้อย่างไร เด็กคนนี้เล่นเกม GTA อย่างชนิดที่เรียกว่าเสพติด เซลล์กระจกเงาได้ทำงานอย่างเต็มที่ บทบาทโจรในเกมเป็นอย่างไรมันจึงสามารถลอกเลียนเอาไว้ได้หมด
ต้องเรียนว่าธรรมชาติเซลล์กระจกเงานั้น มันจะเลียนแบบพฤติกรรมทุกอย่าง มันไม่สามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตัวมันเอง โดยเฉพาะในคนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ที่สมองส่วนยับยั้งชั่งใจ หรือPrefrontal Cortex ยังโตไม่เต็มที่ ดังนั้นการได้สัมผัสหรือได้เห็นแบบอย่างการกระทำไม่ว่าดี หรือไม่ดี เด็กจึงซึมซับหรือลอกแบบเอาหมด แต่ในผู้ใหญ่อย่างเราๆ สมองส่วนยับยั้งชั่งใจโตแล้ว เราก็เลยเลือกที่จะเลียนแบบเฉพาะสิ่งเราชอบใจ
เซลล์กระจกเงามันทำงานอย่างไร
พฤติกรรมที่ผู้อื่นแสดงออก ให้เราเห็นจะถูกบันทึกเข้ามาในสมองของเรา จากนั้นเซลล์กระจกเงาจะทำหน้าที่ควบคุมเซลล์ต่างๆ ในสมองของเราให้ ?ลองทำตาม? ต้นแบบนั้นๆ ดู เป็นการ ?ลองทำตาม? ในระดับการทำงานของเซลล์ ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายภายนอกให้เห็น ไม่ใช่การ ?ลองทำตาม? ที่แสดงออกเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย การที่เซลล์กระจกเงา ?ลองทำตาม? พฤติกรรมที่เรามองเห็นนี้เป็นเพราะว่าจริงๆ แล้วมันมีหน้าที่ ทำความเข้าใจท่าทาง ท่าที และเจตนาของผู้อื่นที่แสดงออกต่อเรา การ ?ลองทำตาม? ภายในสมองของเราจะทำให้เราเข้าใจเจตนาของการกระทำนั้นๆ ได้ เมื่อเราเข้าใจท่าทีและเจตนาของผู้อื่น มันก็จะมีผลต่อการกำหนดท่าทีตอบสนองของเรา เขาแสดงออกมาอย่างนี้ เราอ่านว่าเขามีเจตนาแบบนี้ (ผ่านการทำงานของเซลล์กระจกเงา) เราก็เลยแสดงท่าทางตอบสนองแบบนี้ นี่คือการทำงานของเซลล์กระจกเงา หรือการทำความเข้าใจคนอื่นโดยการลองทำบทบาทเหมือนคนอื่น การลองไปอยู่ในสถานการณ์แบบคนอื่น หรือที่เราชอบพูดกันว่า ใจเขา ใจเรา เอาใจเขา มาใส่ใจเรา ด้วยกระบวนการเช่นนี้ เราจึง เข้าใจ คนอื่น ฉะนั้น หากพิจารณาให้ดีเซลล์กระจกเงาก็คือกลไกที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์เรานั่นเอง เซลล์กระจกเงาช่วยให้เราเข้าใจ เจตนาของผู้อื่น นำมาสู่การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เซลล์กระจกเงาช่วยให้เราเลียนแบบผู้อื่นเพื่อที่จะมีพฤติกรรมบางอย่างที่เหมือนกับผู้อื่น
ที่สำคัญการทำงานของเซลล์กระจกเงาทำให้เรารับรู้ว่า การเลียนแบบ คือวิธีการเรียนรู้ที่สำคัญของมนุษย์ ภาษา วัฒนธรรม คุณธรรม กฎเกณฑ์ทางสังคม ค่านิยม บรรทัดฐาน ประเพณี ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เป็นทักษะและต้องลงมือปฏิบัติ มนุษย์ล้วนเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ ผ่านการทำงานของเซลล์กระจกเงาทั้งสิ้น เราเรียนขับรถ เราเรียนมารยาทในสังคม คุณธรรมในสังคม เราเรียนทำกับข้าว เราเรียนภาษา ทั้งหมดเราเรียนรู้โดยการเลียนแบบ(Imitation Learning) โดยการทำงานของเซลล์กระจกเงาทั้งสิ้น ?การเลียนแบบ? จึงเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม จะโชคไม่ดีหน่อยก็ตรงที่มัน ?เลียนแบบ? สิ่งที่ไม่ดีด้วย
ความรู้ในเรื่องเซลล์กระจกเงาช่วยอะไรเราบ้างในเรื่องการเลี้ยงลูก คนโบราณสอนไว้ว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น อยากให้ลูกเป็นอย่างไร เราต้องทำตัวแบบนั้น มันคือคำสอนที่สอดคล้องกับการทำงานของเซลล์กระจกเงามาก แบบอย่างที่ดี จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลูกของเรา และตัวเรานั่นแหละคือคนที่จะต้องสร้าง แบบอย่างที่ดี ที่ว่านี้ ลองทำแบบนี้ดูครับ ? อ่านหนังสือ ค้นคว้าหาความรู้ให้ลูกเห็น หากอยากให้ลูกรักการอ่าน รักการแสวงหา ความรู้ ? ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ หากอยากให้ลูกห่างจากสิ่งเหล่านี้ ? แสดงกริยาอ่อนน้อมต่อคนอื่น หากอยากให้ลูกเป็นคนอ่อนน้อม ? พูดเพราะกับลูก หากอยากให้ลูกเป็นคนพูดเพราะ ? แสดงความเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ให้ลูกเห็น หากต้องการให้ลูกเป็นคนมีสัมมาคารวะ ? พาลูกทำกับข้าว ทำกับข้าวให้ลูกดู หากต้องการสอนการบ้านการครัวให้ลูก ? พาลูกประดิษฐ์ของเล่นเอง หากอยากให้ลูกเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ ? พาลูกออกกำลังกาย เล่นกีฬา หากต้องการให้ลูกแข็งแรง ฯลฯ
อย่างไรก็ตามเหรียญมีสองด้านเสมอ อย่างที่บอกไปแล้วว่าสิ่งที่ไม่ดีเซลล์กระจกเงามันก็เลียนแบบมาเหมือนกัน ดังนั้นการกันลูกของเราออกจากแบบอย่างที่ไม่ดีก็เป็นสิ่งจำเป็น ยิ่งตอนนี้แบบอย่างไม่ดีมันมีมากเหลือเกิน ทั้งในโทรทัศน์ ในหนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต แถมเพิ่มทางมือถือขึ้นมาอีกด้วย เรียกว่ารอบทิศเลยทีเดียว ลำพังเฉพาะตัวเราคนเดียวคงสู้ไม่ไหวแน่ การร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้ละมือของคนที่เป็นพ่อแม่ทั้งหลายจึงเป็นทางออกที่ดีและมีพลังมากกว่า ข้อสำคัญในขณะที่เราพ่อแม่ทั้งหลายกำลังจับกลุ่มกันช่วยกันคนละไม้ละมือทำสิ่งดีๆ อยู่นั้น เซลล์กระจกเงาในสมองของลูกเรามันก็เฝ้ามองอยู่ ในที่สุดนอกจากเราจะช่วยกันป้องกันลูกของเราออกจากสิ่งที่ไม่ดีแล้ว ลูกของเราก็จะกลายเป็นคนที่เอื้อเฟื้อต่อคนอื่น เป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมไปในที่สุด พบกันอีกในเดือนต่อไปครับ
|