เซลล์กระจกเงา อีเมล์
เขียนโดย นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร   
เสาร์, 12 กรกฎาคม 2008
Image
ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron Theory)
 
เรื่องและภาพ  นายแพทย์อุดม  เพชรสังหาร
ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก

เรารับรู้กันมานานแล้วว่าสมองคืออวัยวะที่ควบคุมการทำงานของร่างกายของเราทั้งหมด สมองควบคุมความคิด อารมณ์ ความรู้สึก สติปัญญา หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวร่างกายของเราเอง แต่เราก็ยังไม่กระจ่างแจ้งไปทั้งหมดว่าสมองมีวิธีการทำงานอย่างไร

หลายคนคงเคยพบพานประสบการณ์แบบนี้
เมื่อเห็นเพื่อนหาว เราก็หาวตามโดยอัตโนมัติ

เมื่อเห็นเพื่อนดมอะไรสักอย่างแล้วทำหน้าคลื่นไส้เหมือนอยากจะอาเจียน เรากลับอาเจียนออกมาก่อนเลย ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ดมกลิ่นนั้นสักหน่อย

เวลาดูละครโทรทัศน์ ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่ามันเป็นการแสดง แต่เราก็ยังต้องเสียน้ำตาให้กับนางเอกที่กำลังถูกแม่ผัวรังแกอย่างจงเกลียดจงชัง

ลูกของเราไปติดคำพูดหยาบคายมาจากโรงเรียน ทั้งๆ ที่บ้านไม่เคยใช้คำแบบนี้เลย หรือบางทีก็ไปลอกเลียนแบบนิสัยที่ไม่ดีมาจากดารา นักร้อง หรือเพื่อนๆ ทั้งๆ ที่เราก็ห้ามปรามจนปากเปียกปากแฉะ

ประสบการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับเราบ่อย จนคุ้นชินและไม่เกิดความสงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร
แต่นั่นไม่ใช่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ครับ

นับเป็นเวลากว่าร้อยปีมาแล้วที่บรรดานักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ พยายามที่จะค้นหาคำตอบมาอธิบายสิ่งเหล่านี้ให้ได้ว่า มันเกิดอะไรขึ้นภายในสมองของเรา พฤติกรรมดังที่ว่าเหล่านี้จึงเกิดขึ้น  พวกเขาพึ่งได้คำตอบเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือสิบกว่าปีมานี้เอง

นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยพาร์ม่า  ประเทศอิตาลี ซึ่งประกอบด้วย Dr.Vittorio Gallese, Dr.Leonardo Fogassi และ Dr.Giacomo Rizzolatti คือผู้เปิดประตูนำไปสู่การไขความลับนี้ พวกเขาพบว่าภายในสมองของคนเรามีเซลล์ชนิดหนึ่งซึ่งต่อมาพวกเขาตั้งชื่อมันว่า เซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron) และเซลล์เหล่านี้แหละคือกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรมดังที่กล่าวข้างต้น (พวกเขาทำการศึกษาและพบเซลล์ชนิดนี้ในสมองของลิงก่อน แล้วนำมาสู่การค้นพบในมนุษย์)
 Image
ภาพ:  Dr.Vittorio Gallese
Parma University, Parma, Italy
หัวหน้าทีมนักวิจัยที่ค้นพบเซลล์กระจกเงา

 Image
ภาพ: ลิงกัง ที่เขาพบเซลล์กระจกเงาในสมองของมันก่อนนำมาสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในมนุษย์

 Image
ภาพ: บริเวณที่พบเซลล์กระจกเงาในสมองลิง (F5) จนกระทั่งนำมาสู่การค้นพบในมนุษย์

เซลล์กระจกเงา หรือ Mirror Neuron จะทำหน้าที่สะท้อนภาพคนอื่นๆ ที่เรามองเห็น ไม่ว่าจะเป็นภาพเพื่อนของเราที่กำลังหาว เพื่อนของเราที่กำลังทำหน้าขยะแขยงกลิ่นเน่าเหม็นบางอย่าง หรือแม้แต่ภาพของนางเอกละครน้ำเน่าที่กำลังถูกแม่ผัวรังแก เข้าไปในสมองของเรา เสมือนหนึ่งว่ามันเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพทุกอย่างเข้าไป ภาพที่ถูกสะท้อนเข้าไปโดยการทำงานของเซลล์กระจกเงานี้จะกระตุ้นให้สมองส่วนอื่นๆ ของเราเกิดกระบวนการทำงานต่อเนื่องตามมา สุดท้ายมันจะทำให้เรามีความรู้สึกเช่นเดียวกันกับคนที่เรากำลังจ้องมองอยู่ เราจะเกิดอาการอยากหาวเหมือนกับเพื่อนของเราที่กำลังหาว เราจะรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกับนางเอกละครที่กำลังถูกแม่ผัวตัวร้ายรังแกอยู่ จนทำให้เราต้องหลั่งน้ำตาตามไปด้วย

ถึงตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างยอมรับกันแล้วว่าเซลล์กระจกเงาคือกลไกสำคัญที่ทำให้เราสามารถเข้าใจ รับรู้ถึงจิตใจ และความรู้สึกของคนอื่นที่อยู่รอบตัวเราได้ ซึ่งเขาใช้คำภาษาอังกฤษคือ ?Empathy? มาเป็นคำอธิบายสั้นๆ ที่แสดงถึงหน้าที่ของเซลล์ชนิดนี้ ซึ่งน่าจะมีความหมายใกล้กับคำว่า ?เอาใจเขามาใส่ใจเรา? ในภาษาไทยของเรา
มากที่สุด

การทำงานของเซลล์กระจกเงาไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ยิ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าไปมากเท่าใด พวกเขาก็ยิ่งพบคำตอบมากขึ้นเท่านั้น  คนเฒ่าคนแก่ของเราสอนไว้ว่า ?ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น?   ท่านเชื่อหรือไม่ว่า นี่คือคำอธิบายการทำงานส่วนหนึ่งของเซลล์กระจกเงาที่สั้น กระชับ และชัดเจนที่สุด เพราะนอกจากสะท้อนภาพเข้าไปในสมองของเราแล้ว มันยังมีผลบังคับให้เราเลียนแบบพฤติกรรมที่เราเห็นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ภูมิปัญญาคนเฒ่าคนแก่ของเราไม่ได้เชยหรือไร้สาระเลย ท่านรู้จักใช้ประโยชน์จากเซลล์กระจกเงามาก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะค้นพบมัน    เสียอีก
 
ถ้าท่านเคยไปดูโรงเรียนสอนลิงของลุงสมพรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โปรดรับทราบด้วยครับว่าหลักสูตรการสอนลิงของลุงสมพรใช้ทฤษฎีเซลล์กระจกเงาอย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ลุงแกก็ไม่รู้หรอกว่าแกกำลังใช้ทฤษฎีที่ทันสมัยที่สุดในศตวรรษที่ ๒๑ ในการทำงาน เสียดายครับตอนนี้ลุงแกเสียชีวิตไปแล้ว

การค้นพบเซลล์กระจกเงา ทำให้เราสามารถเข้าใจธรรมชาติสมองของมนุษย์ได้ชัดเจนมากขึ้นมันทำให้เราเริ่มที่จะรู้กระบวนการต่างๆ ที่จะพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีคุณภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ สติปัญญา คุณธรรม การสร้างสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ หรือแม้แต่การรักษาโรคทางสมองอีกหลายโรคที่เรายังไม่สามารถรักษาได้

ผมจะค่อยๆ เล่าเรื่องราวของเซลล์กระจกเงาให้ฟังเป็นตอนๆ ไป โปรดคอยติดตามครับ