ใกล้จะสิ้นปีหมู ย่างเข้าสู่ปีหนูแล้ว หลายคนอาจใช้โอกาสสิ้นปีทบทวน ปรับเปลี่ยนจังหวะชีวิตในปีใหม่ มีหนังสือ เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น เป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าจะเหมาะกับการหามาอ่านในช่วงที่เรารู้สึกว่าจังหวะชีวิตเราทำไมมันต้องเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา มันเหนื่อยใช่ไหมคะ เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น แปลจากหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ In Praise of Slowness ผู้เขียน Carl Honore ผู้แปล กรรณิการ์ พรมเสาร์ ลิขสิทธิ์ฉบับภาษาไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 2549 (พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2549) ราคา 300 บาท หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกให้คนเฉื่อยชา แต่ให้เป็นคนที่รู้จักจังหวะชีวิต รู้ว่า เมื่อไหร่ควรจะช้า เมื่อไหร่ควรจะเร็ว และได้ยกตัวอย่างขบวนการเนิบช้าจากที่ต่างๆทั่วโลกมาให้อ่าน
ลองอ่านบทความบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้ ?ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีทุ่นเวลามากมาย เช่นรถยนต์ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องต้มน้ำ เตาไมโครเวฟ โทรศัพท์มือมือ ส่วนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแทบทุกชนิดก็ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น ชนิดเปิดปุ๊บติดปั๊บ เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แต่น่าแปลกที่เรากลับมีเวลาว่างน้อยลง จนนอกจากจะนอนไม่เพียงพอ และต้องกินอาหารอย่างรีบเร่งแล้ว ยังแทบไม่มีเวลาให้กับคนในครอบครัวด้วยซ้ำ ดูเหมือนว่ายิ่งมีเทคโนโลยีทุ่นเวลามากเท่าไร ชีวิตเรากลับเร่งรีบและวุ่นวายมากเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับชีวิตของเราในอดีต หรือของคนชนบทในปัจจุบัน จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีไม่มากนัก แต่ชีวิตกลับเนิบช้าและมีเวลาว่างอย่างเห็นได้ชัด ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะมีสิ่งเสพสิ่งบริโภคไม่มากนั่นเอง? (คัดลอกจากคำนำหนังสือ โดย พระไพศาล วิสาโล) ถึงตอนนี้จะให้คำจำกัดความศัพท์แสงที่เราใช้ในหนังสือเล่มนี้ คำว่าเร็วและช้ามีความหมายมากกว่าแค่อธิบายอัตราการเปลี่ยนแปลง เป็นคำสั้นๆที่ใช้แทนวิถีการดำรงชีวิตหรือปรัชญาชีวิต เร็วคือวุ่น ควบคุม ก้าวร้าว รีบร้อน การวิเคราะห์ เครียด ผิวเผิน ใจร้อน แข็งขัน ปริมาณเหนือคุณภาพ ส่วนช้าก็ตรงข้าม คือ สงบ ละเอียดรอบคอบ เปิดกว้าง นิ่ง หยั่งรู้ ไม่รีบร้อน อดทนรอ ครุ่นคิด คุณภาพเหนือปริมาณ เป็นการผูกสัมพันธ์ที่แท้และมีความหมายกับผู้คน วัฒนธรรม งาน ทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่ดูเหมือนขัดแย้งก็คือช้าไม่ได้หมายความว่าต้องช้าเสมอไป.... (คัดลอกจากหนังสือหน้า 26-27) เมื่อนาฬิกาเข้ามากุมอำนาจเข้มงวดขึ้น และเทคโนโลยีก็เอื้ออำนวยให้ทำทุกสิ่งทุกอย่างได้รวดเร็วขึ้น ความรีบร้อนเร่งด่วนก็ซึมลึกเข้ามาในทุกแง่มุมของชีวิต ผู้คนถูกคาดหวังให้คิดเร็วขึ้น เคลื่อนไหวเร็วขึ้น พูดเร็วขึ้น อ่านเร็วขึ้น กินเร็วขึ้น และเคลื่อนที่เร็วขึ้น นักสังเกตการณ์รายหนึ่งของศตวรรษที่ 19 กล่าวเหน็บแนมว่า ชาวนิวยอร์คทั่วๆไป ?เดินเหมือนกับมีอาหารเย็นเลิศรสรออยู่ข้างหน้า และมีพนักงานยึดทรัพย์เดินตามหลัง? ในปี 1880 นิทเช่ก็พบเห็นการเติบโตของวัฒนธรรม ?ความรีบเร่ง ร้อนรนจนเหงื่อตก ที่อยากจะ ทำทุกอย่างในพริบตา? ปัญญชนเริ่มสังเกตเห็นว่าเทคโนโลยีกำลังหล่อหลอมเรา พอๆกับที่เราหล่อหลอมมันขึ้นมา ในปี 1910 เฮอร์เบิร์ต คัสสัน นักประวัติศาสตร์เขียนไว้ว่า ?การใช้โทรศัทพ์ทำให้จิตติดนิสัยใหม่ อารมณ์ที่เนิบเนือยและเฉื่อยชาถูกขจัดออกไป.. ชีวิตเครียดขึ้น ตื่นตัวขึ้น และโลดโผนขึ้น? คัสสันคงไม่ประหลาดใจถ้ารู้ว่าการนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ อาจทำให้เคนเราหมดความอดทนกับใครก็ตามที่ขยับตัวได้ไม่เร็วเท่าความเร็วของซอฟร์แวร์ (คัดลอกจากหนังสือหน้า 41)
|