จากการที่น้าแต้วแนะนำหนังสือน่าอ่านไปแล้วสามถึงสี่ครั้งให้กับสมาชิกก๊วนชวนอ่าน ได้เอาไปใช้ไปอ่านสนุกกับลูกหลานที่บ้าน เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ได้ผลหรือไม่ได้ผล สนุก ไม่สนุกอย่างไร อย่าลืมส่งข่าวคราวมาเล่าสู่กันด้วยนะคะ เดือนนี้น้าแต้วมีหนังสือสวยงามอีกเล่มหนึ่งของครูชีวัน ที่จะมาชวนกันอ่าน เล่มนี้เป็นหนังสือที่ครูชีวันลงทุนควักกระเป๋าจัดพิมพ์เอง ... คงไม่ใช่เพราะครูชีวันร่ำรวยหรือเพราะอยากรวย ... แต่อยากให้มีหนังสือที่ดีที่เหมาะสม และน่าอ่านให้เด็กๆฟังอีกเล่มหนึ่ง โดยอย่าเพิ่งตัดสินว่า หนังสือแบบนี้เด็กจะไม่ชอบ จนกว่าเราจะนั่งลงอ่านหนังสือให้เด็กฟังด้วยตัวเอง ระฆังเบิกบาน เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่แฝงธรรมะเอาไว้อย่างลึกซึ้ง ระฆังเบิกบาน คือความหมายของการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด แม้ดูเหมือนว่าหน้าที่ที่ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่เกี่ยวข้องส่งผลกับใครหรือสิ่งใด แต่ในความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับระฆังใบน้อยนี้ เรื่องเนื้อ ระฆังเบิกบาน พูดถึงระฆังใบหนึ่งที่แขวนอยู่บนกิ่งไม้ ทุกๆวันเณรน้อยจะมาเคาะระฆัง เณรน้อยเคาะระฆังทุกวัน ระฆังส่งเสียงดังกังวานไปไกล แต่แล้ววันหนึ่งระฆังเกิดเบื่อขึ้นมา จึงบอกให้เณรน้อยหยุดเคาะระฆัง เมื่อเณรน้อยหยุดระฆัง ก็ไม่เกิดเสียงดังกังวาน... ไก่ที่เคยขันขับขานก็เงียบหงอย ผู้คนที่เคยเบิกบานก็เงียบเหงา ดอกไม้ที่เคยแบ่งบานก็เหี่ยวเฉา ระฆังเองก็เศร้าสร้อยจนตัวเองรู้สึกได้ จึงขอให้เณรน้อยกลับมาเคาะระฆัง ทุกสิ่งที่เคยเงียบเหงาก็กลับเบิกบานอีกครั้ง ระฆังเบิกบาน บอกอะไรแก่เด็กๆ...ช่วยกันคิด ระฆังเบิกบาน กับการพัฒนาประสาทสัมผัสของเด็กเล็ก ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าหนังสือเล่มนี้มีเรื่องของเสียงที่เด่นชัดมาก เช่น เสียงของระฆัง เสียงไก่ขัน เสียงเณร (พระ)สวนมนต์ สำหรับเสียงสามเณรนั้น อาจจะไม่มีภาพปรากฏในหนังสือ แต่เด็กสามารถคิดต่อได้ เราใช้ระฆังเบิกบานฝึกฝนให้เด็กๆได้เปิดรับสัมผัสทางหูอย่างตั้งใจ หากบ้านใครอยู่ใกล้วัดก็จะได้เปรียบมาก พาเด็กเดินไปเคาะระฆัง เคาะเบาๆ เคาะแรงๆ เคาะแล้วเว้นนานๆ เคาะถี่ๆ ใช้ไม้ใหญ่ ใช้ไม้เล็กสลับกัน แล้วลองฟังดูสิว่า เด็กๆได้ยินเสียงต่างกันอย่างไร ในความแตกต่างนี้เด็กเล็กๆอาจจะยังแยกไม่ได้ และโอกาสเองที่ผู้ปกครองจะเป็นผู้ชี้แนะแยกแยะให้เด็กๆลองฟังอย่างตั้งใจ เสียงไก่ขันก็คือเสียงไก่ขัน เด็กๆหรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็แยกแยะไม่ออก ถ้าไม่เคยหยุดตั้งใจฟัง ไก่แต่ ละตัวขันเสียงคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน พ่อไก่ แม่ไกก็ส่งเสียงขันฟังต่างกัน ลูกเจี๊ยบก็ส่งเสียงอีกแบบหนึ่ง ไก่แต่ละสายพันธุ์ก็ขันเสียงต่างกัน เสียงพระสวดมนต์ เป็นเสียงโทนต่ำจึงมีผลต่อคลื่นสมอง ช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบและพร้อมที่จะเรียนรู้ วันวัดนี้ลองพาเด็กๆไปวัด ฟังเสียงพระสวดบ้างก็จะเป็นผลดีต่อคลื่นสมอง ด้วยว่าชีวิตของคนเมืองในปัจจุบัน เราแทบไม่เคยมีโอกาสให้เด็กๆอยู่ในที่ที่สงบเงียบเลย ถ้าคุณพ่อคุณแม่หาโอกาสพาเด็กๆฟังพระสวดมนต์บ้างก็จะเป็นเรื่องที่ดี แม้จะพวกเขาไม่เข้าใจความหมายแต่เสียงสวดมนต์มีผลทำให้เด็กๆเกิดสมาธิ ในครั้งแรกอาจจะยากสักหน่อย จึงไม่ควรให้เด็กๆนั่งอยู่นานเกินไปในการฟังพระสวดมนต์ครั้งแรกๆ แต่ถ้าได้พาเด็กๆเข้าวัดฟังพระสวดมนต์บ่อยๆ เด็กๆก็จะรู้จักปรับตัว รู้จักนั่งนิ่งๆ รู้จักความสงบ การอ่านระฆังเบิกบาน แล้วพาเด็กๆมาวัดก็ถือว่า นำการอ่านมาเชื่อมโยงกับการเที่ยว เพราะการมาวัดก็ถือเป็นการมาเที่ยวสำหรับเด็กๆ คราวนี้เมื่อกลับถึงบ้านก็พาลูกเล่นกับกิจกรรมที่แม่จา นำมาแนะนำกัน ในก๊วนชวนเล่นต่อไป ระฆังเบิกบานกับการพัฒนาประสาททางจมูก นอกจากการฟังเสียงที่มองเห็นเด่นชัดมากในหนังสือเล่มนี้ เรายังสามารถใช้กิจกรรมกระตุ้นประสาทการดมกลิ่นของเด็กๆได้ นั่นคือ กลิ่นดอกไม้ ผู้ใหญ่อาจจะหาดอกไม้จากรอบๆมาให้เด็กๆได้ดม หรือพาลูกๆเดินดูเดินดมดอกไม้ใกล้ๆบ้าน เพื่อฝึกประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นของเด็กๆ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือความสามารพิเศษใดๆเลยเมื่อเด็กดมดอกไม้แล้วอาจจะแยกแยะได้เพียง กลิ่นหอมกับไม่หอมเท่านั้น ความจริงพวกเขาจะได้กลิ่นหอมที่แตกต่างกันออกไป แต่จากประสบการณ์ชีวิตที่น้อยนิดจึงบอกไม่ได้ว่าดอกไม้หอมแตกต่างกันอย่างไร อย่างน้อยที่สุดเด็กๆก็ได้รับรู้แล้วว่า กลิ่นหอมนั้นก็มีความแตกต่าง ระฆังเบิกบานกับการพัฒนาประสาทสัมผัสทางผิวกาย เมื่อพาเด็กๆเคาะระฆังที่วัดแล้ว ลองให้เด็กๆใช้ฝ่ามือหรือหลังมือแตะระฆังดูว่ารู้สึกอย่างไร เย็นถ้าระฆังอยู่ในร่ม และอุ่นหรือร้อนเมื่อระฆังอยู่กลางแดด (ผู้ใหญ่อธิบาย) จากนั้นลองให้เด็กใช้ฝ่ามือลูบผิวระฆังดูว่าเรียบหรือขรุขระ และลองลูบเปลือกต้นไม้ดูว่าแตกต่างกับผิวของระฆังหรือไม่ (ผู้ใหญ่แนะนำเด็กๆ) ส่วนการรับรู้ทางใจ เป็นความรู้สึกที่เป็นนามธรรมและยากต่อการอธิบายให้เด็กเล็กๆเข้าใจ คือความรู้สึกที่มีต่อสิ่งใดหรือการกระทำใดๆ ผู้ใหญ่สามารถช่วยบอกเด็กๆถึงความรู้สึกยินดีเบิกบาน เศร้า เหงาหงอยให้เด็กๆเข้าใจได้อย่างง่ายๆ โดยอธิบายผ่านความรู้สึกที่แสดงออกทางสีหน้าของเณรน้อย ของผู้คน หรือแม้แต่ท่าทางการแสดงออกของไก่ ดอกไม้ และระฆัง เพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้จักเรื่องอารมณ์
ต่อแต่นี้ เมื่อได้หนังสือดีๆมาสักเล่มหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมใช้ให้คุ้มนะคะ รับรองว่า เด็กๆลูกๆของเราจะต้องสนุก ผู้ใหญ่ก็จะสนุกทั้งได้คิด ได้ลงมือทำงานไปพร้อมกับลูก และสำคัญกว่านั้นคือ เด็กๆของเราจะได้เรียนรู้และก้าวหน้าไปเรื่อยๆอย่างมีความสุข
Add as favourites (627) | Quote this article on your site
|