เขียนโดย น้าแตัว
|
เสาร์, 09 มิถุนายน 2007 |
เมื่อถึงเวลาเขียนต้นฉบับสำหรับ ก๊วนชวนอ่าน น้าแต้วจะรู้สึกสนุกราวกับตัวเองเป็นเด็กๆทุกครั้งไป เพราะเมื่อต้องเขียนถึงหนังสือเล่มใด น้าแต้วก็ต้องนั่งอ่านพิจารณาหนังสือเล่มนั้นอย่างละเอียด อ่านแล้วอ่านอีก ดูรูปแล้วดูแก ทั้งอ่านทั้งดูหลายๆรอบ ยิ่งอ่านยิ่งดูมากเท่าไรก็พบว่า หนังสือเด็กที่ดีๆมีเสน่ห์มากเหลือเกินเพื่อ น้าแต้วหยิบหนังสือเรื่อง ?บ้านใบไม้? มาแนะนำ โดยส่วนตัวเองชื่นชอบผู้วาดภาพคนนี้มาก ถ้าใครยังจำเรื่อง งานแรกของมี้จัง น้องหนูอยู่โรงพยาบาล ดอกไม้จากใครเอ่ย และอาบน้ำสนุกจังได้ เป็นผู้วาดภาพคนเดียวกันนี้เอง ลองสังเกตดูว่า ผลงานหนังสือของเขาส่วนใหญ่มีตัวเอกเป็นเด็กผู้หญิง (ยกเว้นอาบน้ำฯ) และเป็นภาพที่มีรายละเอียดมาก มีเรื่องราวอยู่ในภาพที่ตัวหนังสือไม่มีก็เยอะ เวลาที่เด็กๆดูหนังสือภาพพวกเขาจะสนุกมากขึ้นก็ตรงนี้เอง ตรงที่มีรายละเอียดของภาพมาเล่าเรื่องเพิ่มเติม ให้เด็กๆได้อ่านจากภาพ
บ้านใบไม้ ผลงานการเขียนเรื่องของ คิโยชิ โซยะ และงานวาดภาพของอาคิโกะ ฮายาชิ ทั้งคู่เป็นผู้หญิงชาวญี่ปุ่น ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นในปี 1984 หรือเมื่อ 13 ปีมาแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีขายอยู่ทั้งในญี่ปุ่น และฉบับภาษาไทยในเมืองไทย บ้านใบไม้เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กเล็กที่แฝงเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์เอาไว้ เป็นเรื่องของเด็กหญิงเล็กๆชื่อซาจิ ออกไปเล่นอยู่ใต้พุ่มไม้หลังบ้าน และเธอก็เรียกมันว่า ?บ้านใบไม้ของซาจิ? ที่บ้านใบไม้ของซาจินี่เองที่เด็กๆจะได้พบเห็นแมลงตัวเล็กๆมาขอหลบฝนใต้บ้านใบไม้ของซาจิ ด้วยภาพวาดสีนวลตา ถ้าไม่ทันได้สังเกตก็จะไม่ได้เห็นหนอนตัวเล็กๆเรียวๆที่ซ่อนตัวกลมกลืนอยู่กับกิ่งไม้เช่นเดียวกับเจ้าเขียดน้อยที่มันก็ไม่ทันสังเกตเห็นหนอนน้อย อาหารโปรดของมันเช่นกัน หนังสือเล่มนี้เข้าใจถึงจิตใจของเด็กเล็กๆเป็นอย่างดี สังเกตได้จากการที่ซาจิพูดคนเดียว หรือพูดคุยกับบรรดาเพื่อนๆแมลงที่อยู่รอบตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราผู้ใหญ่บางคนอาจจะทึกทักเอาเองว่า เด็กๆที่พูดอยู่คนเดียวนั้นมีอาการน่าเป็นห่วง ! แต่ในความจริงแล้ว เขากำลังพูดคุยอยู่กับเพื่อนในธรรมชาติ ที่ผู้ใหญ่ส่วนมากมักจะมองไม่เห็นต่างหาก บ้านใบไม้ เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่นิ่ง เงียบ เและสงบ การอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ลูกหลานที่บ้านฟัง ไม่จำเป็นต้องใช้ลีลาท่าทาง หรือน้ำเสียงมากนัก เปิดภาพให้ดูช้าๆ บางครั้งผู้ใหญ่ก็อาจจะชี้ชวนให้เด็กๆช่วยกันมองหาแมลงตัวเล็กๆในภาพด้วย เมื่ออ่านบ้านใบไม้ด้วยกันจบแล้ว เราจะเล่นอะไรกันดี พาเด็กๆเล่นสนุกจากบ้านใบไม้ ด้วยการฝึกประสาทสัมผัสกันบ้างก็น่าจะสนุกดี แม้ว่าจะไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้ง ๖ ของเด็ก ได้แก่ ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นชิมรส ผิวกายสัมผัส และหัวใจรู้สึกก็ตาม หรือบางครอบครัวอาจจะคิดได้มากกว่าที่น้าแต้วแนะนำเอาไว้ โปรดเขียนมาบอกด้วยก็จะดีค่ะ แต่โปรดระลึกเอาไว้เสมอนะคะ ว่าเราต้องพาเด็กๆเล่นกันด้วยความรู้สึกสนุกและมีความสุข เมื่อไรที่เด็กหรือผู้ใหญ่เริ่มเบื่อ เหนื่อย เครียด ควรหยุดทันที อย่ากระตุ้นมากเกินไปจนกลายเป็นการยัดเยียด เริ่มเรื่อง.... ซาจิกำลังเล่นอยู่ในสวนหลังบ้าน เม็ดฝนหยดติ๋งลงมาบนแก้ม เม็ดฝนหยดติ๋งลงมาบนปลายจมูก ?อุ๊ย เย็นจัง? หยดติ๋งๆลงบนมือและบนขา จากเนื้อความข้างบนนี้ เราสามารถพาเด็กเปิดประสาทสัมผัสผิวกายได้ ด้วยการนำน้ำมาหยดลงบนมือ บนขา ให้เด็กๆแยกว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อน้ำหยดลงมือและขาแต่ละครั้ง อุ่น ร้อน หรือเย็น โดยใช้น้ำทั้งอุ่น อุ่นจัดและน้ำเย็นสลับกันไป คราวนี้ผลักให้เจ้าตัวเล็กหยดน้ำลงบนผิวของผู้ใหญ่บ้าง เด็กก็จะได้เล่นไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย หรือลองมาฝึกประสาทสัมผัสตาดูและหูฟังบ้าง ที่ใต้บ้านใบไม้ของซาจิ มีสัตว์และแมลงเล็กๆอยู่รวมกันถึง ๘ ชนิด ช่วยกันดูซิว่าใครจะหาพบก่อนกัน ถ้าหาได้ไม่ครบก็ไม่เป็นไร วันหน้าค่อยมาดูกันใหม่ เราออกไปเดินเล่นกันดีกว่า....ดูสิว่า รอบๆบ้านเรามีแมลงหรือสัตว์เล็กๆอะไรอาศัยอยู่บ้าง ทีนี้เราลองเดินเงียบแล้วเงี่ยหูคอยฟังเสียงซิ หนูได้ยินเสียงอะไรบ้าง เด็กบางคนอาจจะได้ยินเสียงนก เสียงรถ เสียงคน เสียงเพลง เสียงกวาดพื้น เสียงสุนัข ฯลฯ แล้วแต่ว่าพวกเขาจะได้ยินหรือรู้จักอะไร ไม่มีการตัดสินในเรื่องความถูกผิด เราเพียงแต่ฝึกให้เด็กๆได้ใช้ประสาทในการรับฟังอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการเล่น เมื่อเด็กๆได้ฝึกฝนบ่อยๆ เขาก็จะไม่ละเลยการที่จะตั้งใจดู หรือตั้งใจฟัง นอกจากกิจกรรมที่น้าแต้วเขียนถึงแล้ว อยากชักชวนให้คุณครูคุณแม่ ผู้ปกครองได้คิดกิจกรรมอื่นๆต่อ (ยังทำได้อีกเยอะ) ทั้งกิจกรรมเพื่อฝึกทักษะ และฝึกการใช้ประสาทสัมผัส ระลึกเอาไว้เสมอเลยนะคะว่า หนังสือหนึ่งเล่มชวนลูกเล่นได้มากกว่าหนึ่งวิธี Add as favourites (586) | Quote this article on your site
|